กรณีศึกษา Stripe บริษัท Disruptor อันดับ 1 ของโลก
Stripe เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มตัวกลางในการทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อลดความยุ่งยากในการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ผ่านบัตรเครดิต ดังเช่นบริการของ Paypal แต่มีความสะดวกกว่ามาก ด้วยการนำโค้ดเพียงไม่กี่บรรทัดไปฝังรวมกับเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้อย่างง่าย ๆ สามารถรองรับการให้บริการทุกขนาด ทั้งธุรกิจรายเล็ก Startup ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ระดับโลก
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 โดยพี่น้องตระกูลคอลลิสัน (Collison) คือ จอห์น (John) และแพทริก (Patrick)
ในปี 2020 Stripe เป็นบริษัทเอกชนนอกตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก (ร่วมกับ SpaceX) ด้วยมูลค่า 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ เดือนกรกฎาคม 2020
และเป็นอันดับ 1 ของกลุ่ม FinTech (ที่มา CBinsights.com) และเป็นบริษัทอันดับ 1 ของ The 2020 CNBC Disruptors ในการจัดอันดับบริษัทที่เป็น Disruptor ของโลก ประจำปี 2020 จัดขึ้นโดย CNBC
ถอดรหัสการทรานส์ฟอร์มธุรกิจของ Stripe ทีละขั้นตอนด้วยเครื่องมือ Digital Transformation Canvas ทั้ง 9 ช่อง ได้ดังนี้
[ ช่องที่ 1 : Define New Core Business ]
การประเมินธุรกิจใหม่
Stripe เป็นโครงสร้างพื้นฐานในด้านการชำระเงินบนอินเทอร์เน็ต เพื่อช่วยเร่งการเติบโตของธุรกิจ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของโลก
วัตถุประสงค์เดิมในการก่อตั้ง Stripe คือ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจเพื่อการทำธุรกรรมออนไลน์ (Online Commerce) ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น
ทุกวันนี้ Stripe มีภารกิจสำคัญคือ การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานของอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงที่สุด ปัจจุบัน Stripe มีมูลค่าการทำธุรกรรมออนไลน์คิดเป็นสัดส่วนเพียง 3% ของ GDP ทั้งโลกเท่านั้น
[ ช่องที่ 2 : New Value Proposition ]
นำเสนอข้อเสนอทางคุณค่าใหม่ของธุรกิจ
Stripe คือระบบตัวกลางที่รับเงินจากลูกค้าผ่านบัตรเครดิต ดังเช่นบริการของ Paypal แต่มีความสะดวกกว่ามาก
นักพัฒนา (Developer) ของแต่ละธุรกิจ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบระบบการทำธุรกรรมออนไลน์ สามารถนำระบบดังกล่าวไปใช้งานได้ง่าย ด้วยการคัดลอกโค้ดที่เชื่อมต่อกับระบบของ Stripe ที่มีเพียง 7 บรรทัด ไปวางไว้ตามตำแหน่งต่าง ๆ ของหน้าเว็บไซต์ หรือหน้าโมบายแอปพลิเคชันที่ต้องการให้ลูกค้าชำระเงินได้ทันที กดจ่ายได้ในหน้าจอเดียว ไม่ต้องเปลี่ยนไปยังหน้าจออื่น มีระบบความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลเทียบเท่ากับระบบอื่น เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักพัฒนาเป็นอย่างมาก
ระบบของ Stripe นอกจากจะรองรับการใช้งานในทุกธุรกิจ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็ก Startup ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ระบบดังกล่าวสามารถปรับแต่งรายการการชำระเงินได้ตามแต่ละสินค้าหรือเงื่อนไขการขาย ที่มาพร้อมกับการสนับสนุนการใช้งานในด้านต่าง ๆ
[ ช่องที่ 3 : New Business Model ]
ออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่
Stripe คิดค่าบริการในอัตรา 2.9% ของมูลค่าธุรกรรมที่เกิดขึ้น และคิดเพิ่มอีก 30 เซนต์ โดยไม่คิดค่าบริการเมื่อใช้ครั้งแรก หรือค่าบริการรายเดือน หรือค่าบริการอื่น ๆ อีก (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://stripe.com/pricing)
[ ช่องที่ 4 : Existing Digital Capabilities ]
ประเมินขีดความสามารถด้านดิจิทัลในปัจจุบัน
แพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์แบบดั้งเดิม เช่น Paypal เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2000
[ ช่องที่ 5 : New Digital Capabilities ]
กำหนดขีดความสามารถใหม่ด้านดิจิทัล
ความง่ายและความสะดวกในการใช้งาน เพียงแค่คัดลอกโค้ดที่เชื่อมต่อกับระบบของ Stripe ครอบคลุมการให้บริการด้าน Payments, Financial Services, และ Business Operations
[ ช่องที่ 6 : Digital Capability Initiative ]
วางแผนและสร้างขีดความสามารถด้านดิจิทัลจากปัจจุบันไปสู่อนาคต
2011 : “seven lines of code", card payments in the US
2015 : ACH debit and Bitcoin payment methods
2017 : Unified payments API
2018 : PaymentIntents and PaymentMethods
[ ช่องที่ 7 : Organisational Transformation ]
ออกแบบการเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคดิจิทัล
Stripe สร้างองค์กรขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์คือ ต้องการลดความยุ่งยากและซับซ้อนในการทำธุรกรรมทางการเงิน ในด้านการให้บริการลูกค้า และนำมาปรับใช้ภายในองค์กรด้วยเช่นกัน
Stripe มองว่า เมื่อต้องการข้อสรุป ความคิดเห็น จากสมาชิกในแต่ละฝ่ายเพื่อจะดำเนินการสิ่งใดก็ตาม อาจจะเกิดความล่าช้าเป็นอย่างมาก คือมีความยุ่งยากและซับซ้อนนั่นเอง
Stripe เลือกที่จะมองหาผู้ที่สามารถทุ่มเท กล้าตัดสินใจ กล้าที่จะยอมรับผลของการกระทำ และเป็น Team Player ที่ดี
มุ่งสร้างบรรยากาศในการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กร ทุกคนกล้าพูดในสิ่งที่ตนคิด ซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น ไว้ใจซึ่งกันและกัน
เน้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กร โดยเฉพาะ Soft Skills (ทักษะทางจิตวิทยาด้านอารมณ์และสังคม)
[ ช่องที่ 8 : Agile Strategy and Planning ]
เปลี่ยนกลยุทธ์และการทำงานด้วยแนวคิด Agile
ยึดมั่นในแนวคิดการทำงานแบบ Agile ทั้งการส่งมอบสินค้าและบริการที่สะดวก ปลอดภัย ราคาเข้าถึงได้ ให้กับลูกค้า ขณะเดียวกันก็ยึดหลักการทำตัวแบบพลิ้วไหว (Agile) ในการทำงาน ไม่ทำตัวเป็นอุปสรรค
ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เชื่อว่า ทุกคนมีศักยภาพในการทำงาน และมุ่งมั่นตั้งใจทำงานอย่างเต็มศักยภาพ ให้เกิดผลลัพธ์เหนือความคาดหมาย
ให้อิสระในการเข้าถึงข้อมูลอย่างทั่วถึงทั้งองค์กร
ส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างกัน
เชื่อว่า ไม่มีสูตรสำเร็จ หรือคู่มือวิเศษใด ๆ ที่จะแก้ปัญหาได้ทุกสิ่ง ต้องเรียนรู้ผ่านการลงมือทำเท่านั้น
[ ช่องที่ 9 : Building Collaborative Ecosystem ]
สร้างระบบนิเวศใหม่ที่สร้างการมีส่วนร่วมกันระหว่างในและนอกองค์กร
Stripe สร้างระบบนิเวศด้านระบบธุรกรรมทางการเงิน โดยมีพันธมิตรทางธุรกิจหลายแห่ง หลายประเภท ได้แก่ ธุรกิจที่ให้บริการแพลตฟอร์มทางอินเทอร์เน็ต ระบบปลั๊กอินซอฟต์แวร์ และนักพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น โปรแกรมทางบัญชี การเงิน การจัดการ การชำระเงิน การขนส่ง การตลาดและการขาย ในทุกอุตสาหกรรม ต่างเป็นพันธมิตรกับ Stripe เพื่อขยายขีดความสามารถด้านการรับชำระเงินออนไลน์ เช่น WooCommerce, Squarespace, Xero (Accounting), Twilio, Shopify, Surveymonkey, HubSpot, DocuSign
รวมทั้งการเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการรายใหญ่ของโลก เช่น Visa, Apple Pay, Alibaba Facebook, Twitter, Pinterest, Amazon